การจ่ายธนบัตรที่มีเครื่องหมาย ของ การปล้นธนาคารในติฟลิส ค.ศ. 1907

หลังจากทราบข่าวการถูกจับกุมของคาโมในกรุงเบอร์ลินใน ค.ศ. 1907 เลนินกลัวว่าตนอาจถูกจับกุมด้วยเช่นกันและวางแผนที่จะหลบหนีออกจากฟินแลนด์พร้อมกับภรรยา[35] เพื่อที่จะหนีออกจากฟินแลนด์โดยไม่ถูกสะกดรอยตาม เลนินเดินเป็นระยะทาง 4.8 กิโลเมตรข้ามทะเลสาบที่เป็นน้ำแข็งในเวลากลางคืนเพื่อขึ้นเรือกลไฟที่เกาะใกล้เคียง[36] ระหว่างการเดินทางข้ามน้ำแข็งนั้น เลนินและเพื่อนร่วมทางของเขาอีกสองคนหวุดหวิดที่จะจมน้ำเสียชีวิตเมื่อน้ำแข็งแตกออกใต้เท้าของพวกเขา ทำให้เลนินคิดว่า "อา ช่างเป็นวิธีตายที่โง่เสียจริง"[36] เลนินกับภรรยาสามารถหลบหนีออกจากฟินแลนด์ได้สำเร็จ และมุ่งหน้าไปยังสวิตเซอร์แลนด์[35][36]

การแลกธนบัตรจากการปล้นที่ไม่มีเครื่องหมายนั้นทำได้ง่าย แต่หมายเลขอนุกรมของธนบัตร 500 รูเบิลเป็นที่รู้กันของเจ้าหน้าที่ทางการ ทำให้การแลกธนบัตรเหล่านี้ในธนาคารรัสเซียนั้นเป็นไปไม่ได้[21] เมื่อถึงปลายปี ค.ศ. 1907 เลนินตัดสินใจที่จะแลกเปลี่ยนธนบัตร 500 รูเบิลที่เหลือในต่างประเทศ[35] ในการเตรียมการสำหรับการแลกเปลี่ยน คราซินได้ให้นักปลอมแปลงเอกสารพยายามเปลี่ยนแปลงหมายเลขอนุกรมบางตัว[37] ธนบัตรเหล่านี้จำนวน 200 ใบถูกส่งไปยังต่างประเทศโดยมาร์ติน ลืยอะดอฟ (ธนบัตรเหล่านี้ถูกเย็บเข้ากับเสื้อกล้ามโดยภรรยาของเลนินและบอกดานอฟที่สำนักงานใหญ่ของเลนินในคูออคคาลา)[7] แผนการของเลนินคือการให้บุคคลจำนวนมากแลกเปลี่ยนธนบัตร 500 รูเบิลที่ถูกขโมยนี้พร้อมกันในธนาคารหลายแห่งทั่วทวีปยุโรปในเดือนมกราคม ค.ศ. 1908[35] จีโตมีร์สกีทราบแผนการดังกล่าวและรายงานข้อมูลนี้ให้กับโอฮรานา[35] โอฮรานาติดต่อกรมตำรวจทั่วทวีปยุโรปและร้องขอให้จับกุมใครก็ตามผู้พยายามขึ้นเงินธนบัตรดังกล่าว[35]

เดือนมกราคม ค.ศ. 1908 มีหลายคนถูกจับกุมขณะพยายามแลกเปลี่ยนธนบัตร[38][39][40] หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า ผู้หญิงคนหนึ่งผู้ซึ่งพยายามจ่ายธนบัตร 500 รูเบิลที่มีเครื่องหมายพยายามกลืนหลักฐานหลังจากที่แคชเชียร์เรียกตำรวจ แต่ตำรวจกำช่องคอของเธอไว้ก่อนที่เธอจะกลืนลงไป[40] การจับกุมครั้งสำคัญที่สุด ได้แก่ มาซิม ลิตวินอฟ ผู้ซึ่งถูกจับกุมพร้อมกับธนบัตร 500 รูเบิล จำนวน 12 ใบ ซึ่งปล้นมาขณะกำลังขึ้นรถไฟพร้อมกับอนุภรรยาที่สถานีรถไฟการ์ดูนอร์ในปารีส[41][42] ลิตวินอฟวางแผนจะไปยังลอนดอนเพื่อจ่ายธนบัตรดังกล่าว[41] รัสเซียต้องการให้ส่งลิตวินอฟเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐมนตรียุติธรรมฝรั่งเศสกลับตัดสินใจเนรเทศลิตวินอฟและอนุภรรยาจากแผ่นดินฝรั่งเศสแทน[41] ความล้มเหลวที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนทำให้รัฐบาลรัสเซียโกรธ[41] รัฐบาลฝรั่งเศสแถลงอย่างเป็นทางการระบุว่า คำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของรัสเซียนั้นมาช้าเกินไป แต่หลักฐานบางชิ้นได้พิจารณาว่ารัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเนื่องจากพวกสังคมนิยมฝรั่งเศสได้กดดันทางการเมืองเพื่อให้ปล่อยตัวลิตวินอฟ[41]

นาเดซฮดา ครุปสกายา ภรรยาของเลนิน อภิปรายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในบันทึกความทรงจำของเธอว่า

เงินที่ได้จากการปล้นที่ติฟลิสถูกส่งไปให้บอลเชวิคเพื่อจุดประสงค์ในการปฏิวัติ แต่ก็ไม่สามารถนำเงินนั้นไปใช้ได้ ทั้งหมดเป็นธนบัตร 500 รูเบิล ซึ่งจำเป็นจะต้องแลกย่อย แต่เราไม่สามารถแลกธนบัตรในรัสเซีย เพราะธนาคารจะมีรายการหมายเลขธนบัตรในกรณีเช่นนี้เสมอ... เงินเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวด ดังนั้น กลุ่มสหายจึงพยายามแลกธนบัตร 500 รูเบิลในเมืองต่างด้าวพร้อมๆ กันหลายเมืองหลังจากเรามาถึงไม่นาน... จีโตเมียร์สกีเตือนตำรวจเรื่องความพยายามแลกธนบัตรรูเบิลเหล่านั้น และผู้เกี่ยวข้องก็ถูกจับกุม สมาชิกของกลุ่มซูริก a Lett ถูกจับกุมในสต็อกโฮล์ม และโอลกา ราวิช สมาชิกของกลุ่มเจนีวา ผู้ซึ่งเพิ่งกลับมาจากรัสเซีย ถูกจับกุมในมิวนิกพร้อมกับบอกดัสซาเรียนและโฮจามีเรียน ในเจนีวา เอ็น. เอ. เซมัชโก ถูกจับกุมหลังจากที่ได้รับโปสการ์ดฉบับหนึ่งซึ่งส่งมาจากหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกจับกุมแล้ว[43]

แบรกแมนอ้างว่าถึงแม้จะมีการจับกุมดังกล่าว เลนินยังคงพยายามแลกธนบัตร 500 รูเบิลต่อไปและทำการแลกเปลี่ยนธนบัตร 500 รูเบิลจำนวนหนึ่งกับหญิงนิรนามในมอสโกเป็นเงิน 10,000 รูเบิล[39] อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของนีโคลาเอฟสกี หลังจากการจับกุมในเดือนมกราคม ค.ศ. 1908 แล้วเลนินก็ยุติความพยายามใดๆ ที่จะแลกธนบัตรเหล่านี้อีก อย่างไรก็ตาม บอกดานอฟและคราซินยังคงพยายามต่อไปอีกหลายครั้ง[7] ตามข้อมูลของนีโคลาเอฟสกี บอกดานอฟพยายามและล้มเหลวที่จะแลกเปลี่ยนธนบัตรในอเมริกาเหนือ ขณะที่คราซินประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนหมายเลขอนุกรมและแลกเปลี่ยนธนบัตรอีกเพิ่มเติม[7] ไม่นานหลังจากนั้น เพื่อนร่วมงานของเลนินได้เผาธนบัตร 500 รูเบิลทั้งหมดที่พวกเขายังครอบครองอยู่[7][44]

แหล่งที่มา

WikiPedia: การปล้นธนาคารในติฟลิส ค.ศ. 1907 http://books.google.com/books/princeton?id=U_SU7fx... http://books.google.com/books?id=5F9eL9C2QzEC&pg=P... http://books.google.com/books?id=Jrkl5e1joNMC&prin... http://books.google.com/books?id=TdCK1WkconkC&pg=P... http://books.google.com/books?id=U8QG2BnQORkC&pg=P... http://books.google.com/books?id=cnGQl1fWE-wC&pg=P... http://books.google.com/books?id=j0PTAAAAMAAJ&q=ka... http://books.google.com/books?id=qQ6R4Fg6rh4C&pg=P... http://books.google.com/books?id=srEzMdMN-z0C&lpg=... http://books.google.com/books?id=zQL8POkFGIQC&pg=P...